การเพิ่มคำด้วยการยืมคำภาษาต่างประเทศ

2.การเพิ่มคำด้วยการยืมคำภาษาต่างประเทศ
จุดประสงค์
1. เพื่อให้นักเรียนรู้ที่มาของคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ
2. เพื่อให้นักเรียนสามารถแยกคำที่มาจากภาษาต่างประเทศได้

สาเหตุที่ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนในภาษาไทย
การติดต่อสัมพันธ์กันทำให้ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทย ด้วยสาเหตุหลายประการ พอสรุปได้ดังนี้
1สภาพภูมิศาสตร์ คือ ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ได้แก่ พม่า ลาว เขมร มาเลเซีย จึงทำให้คนไทยที่อยู่อาศัยบริเวณชายแดนเดินทางข้ามแดนไปมาหาสู่กันและมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จึงมีการแลกเปลี่ยนภาษากัน เช่น คนไทยที่อยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีษะเกษ บุรีรัมย์ ก็จะสามารถสื่อสารด้วยภาษาเขมรได้ คนไทยที่อยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา รับเอาภาษามาลายูเข้ามาใช้ เป็นต้น
2.ประวัติศาสตร์ ชนชาติไทยเป็นชนชาติที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีการอพยพโยกย้ายของคนไทยเข้ามาอยู่ในถิ่นอาศัยปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมมีชนชาติอื่นอาศัยอยู่ก่อน เช่น เขมร ละว้า มอญ หรือมีการทำศึกสงครามกับชนชาติอื่น มีการกวาดต้อนเชลยศึกและประชาชน พลเมืองชนชาติอื่น ๆ ให้มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ผู้คนเหล่านี้ได้นำถ้อยคำภาษาเดิมของตนเองมาใช้ปะปนกับภาษาไทยด้วย
3.ศาสนา คนไทยมีเสรีภาพในการนับถือศาสนามาเป็นเวลาช้านาน เมื่อนับถือศาสนาใดก็ย่อมได้รับถ้อยคำภาษาที่ใช้ในคำสอน หรือคำเรียกชื่อต่าง ๆ ในทางศาสนาของศาสนานั้น ๆ มาปะปนอยู่ในภาษาไทยด้วย เช่น ศาสนาพราหมณ์ใช้ภาษาสันสกฤต ศาสนาพุทธใช้ภาษาบาลี ศาสนาอิสลามใช้ภาษาอาหรับ และศาสนาคริสต์ใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้นภาษาต่าง ๆ ที่ใช้ ในทางศาสนาก็จะเข้ามาปะปนในภาษาไทยด้วย
4.การค้าขาย จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ ชนชาติไทยมีการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากับชนชาติต่าง ๆ มาเป็นเวลาอันยาวนาน เช่น ชาวจีน ชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลันดา ตลอดถึงญี่ปุ่น ทำให้มีถ้อยคำในภาษาของชนชาตินั้น ๆ เข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก ตลอดเวลาไม่มีวันสิ้นสุด
5.วรรณคดี วรรณคดีอินเดียที่ไทยนำเข้ามา เช่น เรื่องมหากาพย์รามายณะ และ มหาภารตะ แต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต อิเหนา เป็นวรรณคดีที่มีเค้าเรื่องมาจากเรื่องดาหลังของชวา ด้วยเหตุนี้วรรณคดีทำให้ภาษาสันสกฤตและภาษาชวาเข้ามาปะปนในภาษาไทย
6.ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมและประเพณี เมื่อชนชาติต่าง ๆ เข้ามาสัมพันธ์ติดต่อกับชนชาติไทย หรือเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศไทย ย่อมนำเอาวัฒนธรรมและประเพณีที่เคยยึดถือปฏิบัติอยู่ในสังคมเดิมของตนมาประพฤติปฏิบัติในสังคมไทย นาน ๆ เข้าถ้อยคำภาษาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและประเพณีเหล่านั้น ก็กลายมาเป็นถ้อยคำภาษาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น
7.การศึกษาและวิทยาการด้านต่าง ๆ จากการที่คนไทยเดินทางไปศึกษายังต่างประเทศ ทำให้ได้ใช้และพูดภาษาอื่น ๆ และรับเอาวิทยาการต่าง ๆ เมื่อสำเร็จการศึกษา จึงนำภาษาของประเทศนั้นมาใช้ปะปนกับภาษาของตน เช่น ภาษาอังกฤษ ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนและมาตรฐานสากล โดยการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนและภาษาที่สามารถสื่อสารกันในสากลโลก ดังนั้นการหลั่งไหลของภาษาต่าง ๆ ที่จะเข้ามาปะปนในภาษาไทยก็จะเพิ่มมากขึ้น
8.ความสัมพันธ์ทางการทูต การเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูต ในการอพยพ โยกย้ายหรือในการติดต่อทางการทูต ย่อมทำให้ภาษาของเจ้าของถิ่นเดิมหรือผู้อพยพโยกย้ายมาใหม่นำมาใช้ร่วมกัน เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส
9.อพยพย้ายถิ่นฐาน การอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น สภาพเศรษฐกิจต้องไปประกอบอาชีพยังประเทศต่าง ๆ ภัยสงคราม การเมืองการปกครอง
คำภาษาไทยที่ยืมมาจากภาษาค่างประเทศ
บาลี กัญญา ขัตติยะ วิชา สันติ อิตถี
สันสกฤต บริษัท โฆษณา ประกาศ ภรรยา แพทย์
จีน ก๋วยเตี๋ยว ซาลาเปา เต้าฮวย บะหมี่ ลิ้นจี่
อังกฤษ กอล์ฟ โปรตีน คลินิก ฟอสฟอรัส นิวเคลี์ยร
เขมร กังวล ถนน บำเพ็ญ เผด็จ เสวย
ชวา-มลายู กริช กระดังงา ซ่าหริ่ม ปาหนัน อังกะลุง อุรังอุตัง
เปอร์เซีย กุหลาบ คาราวาน ตราชู บัดกรี สักหลาด
โปรตุเกส กะละแม กะละมัง สบู่ เลหลัง ปิ่นโต
ฝรั่งเศส กงสุล ครัวซองต์ คูปอง แชมเปญ บุฟเฟ่ต์
ญี่ปุ่น กิโมโน คาราเต้ ซูโม ยูโด สุกี้ยากี้
ทมิฬ กะไหล่ กุลี กานพลู กำมะหยี่ อาจาด
อาหรับ กะลาสี การบูร กั้นหยั่น กะไหล่ ฝิ่น
มอญ มะ เม้ย เปิงมาง พลาย ประเคน
พม่า หม่อง กะปิ ส่วย
ภาษาที่มีใช้ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก คือ ภาษาบาลี สันสกฤต เขมร จีน อังกฤษ โดยเฉพาะภาษาบาลี สันสกฤต เขมร จีน ไทยนำมาใช้และมีการเปลี่ยนแปลงรูปคำจนดูกลมกลืนกับภาษาไทยแทบจะจำแนกไม่ได้ว่าเป็นคำมาจากภาษาอื่น
อิทธิพลของภาษาต่างประเทศที่มีต่อภาษาไทย
ภาษาต่างปะเทศที่เข้ามาปะปนในภาษาไทยด้วยสาเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น มีอิทธิพลต่อภาษาไทย คือ ทำให้ลักษณะของภาษาไทยเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนี้
1.คำมีพยางค์มากขึ้น ภาษาไทยเป็นภาษาตระกูลคำโดด คำส่วนใหญ่เป็นคำพยางค์เดียว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เดิน ยืน นั่ง นอน เมือง เดือน ดาว ช้าง แมว ม้า ป่า น้ำ เป็นต้น เมื่อยืมคำภาษาอื่นมาใช้ ทำให้คำมีมากพยางค์ขึ้น เช่น
คำสองพยางค์ เช่น บิดา มารดา เชษฐา กนิษฐา ยาตรา ธานี จันทร กุญชร วิฬาร์ เป็นต้น
คำสามพยางค์ เช่นโทรเลข โทรศัพท์ พาหนะ จักรยาน ปรารถนา บริบูรณ์ เป็นต้น
คำมากกว่าสามพยางค์ เช่น กัลปาวสาน สาธารณะ อุทกภัย วินาศกรรม ประกาศนียบัตร เป็นต้น
2.มีคำควบกล้ำใช้มากขึ้น โดยธรรมชาติของภาษาไทยจะไม่มีคำควบกล้ำ เมื่อรับภาษาอื่นเข้ามาใช้เป็นเหตุให้มีคำควบกล้ำมากขึ้น เช่น บาตร ศาสตร์ ปราชญ์ พรหม ปราศรัย โปรด ปลูก ทรวง เกรด เคลียร์ เอ็นทรานซ์ ดรัมเมเยอร์ เป็นต้น
3.มีคำไวพจน์ใช้มากขึ้น (คำไวพจน์ คือ คำที่มีความหมายเหมือนกัน) ซึ่งสะดวกและสามารถเลือกใช้คำได้เหมาะสมตามความต้องการและวัตถุประสงค์ เช่น
นก บุหรง ปักษา ปักษิน สกุณา วิหค
ม้า พาชี อาชา สินธพ หัย อัศวะ
ดอกไม้ กรรณิกา บุปผชาติ บุหงา ผกา สุมาลี
ท้องฟ้า คคนานต์ ทิฆัมพร นภดล โพยม อัมพร
น้ำ คงคา ชลาลัย ธารา มหรรณพ สาคร
พระจันทร์ แข จันทร์ นิศากร บุหลัน รัชนีกร
4.มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา คำไทยแท้ส่วนใหญ่มีตัวสะกดตรงตามมาตรา เมื่อได้รับอิทธิพลภาษาต่างประเทศ คำใหม่จึงมีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราจำนวนมาก เช่น พิพาท โลหิต สังเขป มิจฉาชีพ นิเทศ ประมาณ ผจญ กัปตัน ปลาสเตอร์ คริสต์ เคเบิล ดีเซล โฟกัส เป็นต้น
5.ทำให้โครงสร้างของภาษาเปลี่ยนไป เช่น
ใช้คำ สำนวน หรือประโยคภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เช่น
สำนวนภาษาต่างประเทศ เขาพบตัวเองอยู่ในห้อง
สำนวนภาษาไทย เขาอยู่ในห้อง
สำนวนภาษาต่างประเทศ นวนิยายเรื่องนี้เขียนโดยทมยันตี
สำนวนภาษาไทย ทมยันตีเขียนนวนิยายเรื่องนี้
สำนวนภาษาต่างประเทศ มันเป็นเวลาบ่ายเมื่อข้าพเจ้ามาถึงอยุธยา
สำนวนภาษาไทย ข้าพเจ้ามาถึงอยุธยาเมื่อเวลาบ่าย
ใช้คำภาษาต่างประเทศปนกับภาษาไทย ทั้ง ๆ ที่บางคำมีคำภาษาไทยใช้ เช่น เธอไม่แคร์ ฉันไม่มายด์ เขาไม่เคลียร์
คำภาษาบาลีและสันสกฤตที่มีใช้ในภาษาไทย
ในบรรดาภาษาต่างประเทศที่มีอิทธิพลต่อภาษาไทยมากที่สุด คือ ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต คำยืมในภาษาไทยที่ยืมมาจากทั้งสองภาษานี้ เป็นคำที่มีใช้ในชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมากทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน ภาษาบาลีเข้ามาทางศาสนาพุทธ ส่วนภาษาสันสกฤตเข้ามาทางศาสนาพราหมณ์และวรรณคดีเรื่องมหาภารตะและรามายณะ
ลักษณะคำไทยที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต มีหลักสังเกตดังนี้
มักเป็นคำหลายพยางค์ เช่น กษัตริย์ พฤกษา ศาสนา อุทยาน ทัศนะ เป็นต้น
ตัวสะกดมักไม่ตรงตามมาตรา เช่น เทวัญ เนตร อากาศ พิเศษ อาหาร เป็นต้น
นิยมมีตัวการันต์ เช่น กาญจน์ เกณฑ์ มนุษย์ สัมภาษณ์ อาทิตย์ เป็นต้น
ประสมด้วยพยัญชนะ ฆ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ภ ศ ษ ฤ ฤๅ เช่น
พยัคฆ์ อัชฌาสัย กฎ ปรากฏ สัณฐาน ครุฑ วัฒนา เณร โลภ ศึกษา บุรุษ ฤทัย เป็นต้น
ยกเว้น ฆ่า เฆี่ยน ฆ้อง ศอก ศึก เศิก เศร้า ทั้งหมดนี้เป็นคำไทยแท้
คำยืมที่มาจากภาษาบา
ภาษาบาลี เป็นภาษาตระกูลเดียวกับภาษาสันสกฤต คือ ภาษาตระกูลวิภัตติปัจจัย จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ข้อสังเกตและตัวอย่างคำภาษาบาลี นิยมใช้ ฬ เช่น กีฬา จุฬา ครุฬ นาฬิกา วิฬาร์ อาสาฬห เป็นต้น ประสมด้วยสระ อะ อิ อุ แทน ฤ ในภาษาสันสกฤต เช่น อิทธิ อิสิ
นิยมใช้พยัญชนะ 2 ตัวซ้อนกัน กิตติ นิพพาน ปัจจัย ปัญญา บุคคล บัลลังก์ ภัตตา มัจจุราช เมตตา วิญญาณ สัญญาณ อัคคี อนิจจา
แบ่งพยัญชนะเป็นวรรคตามฐานที่เกิดและมีหลักตัวสะกดตัวตามที่แน่นอน ดังนี้
พยัญชนะวรรคของภาษาบาลี
คำอธิบาย: 157
หลักตัวสะกดตัวตามภาษาบาลี
1. คำบาลี เมื่อมีตัวสะกดต้องมีตัวตาม
2. พยัญชนะที่เป็นตัวสะกดได้ คือ พยัญชนะแถวที่ 1, 3, 5
3. พยัญชนะแถวที่ 1 สะกด พยัญชนะแถวที่ 1, 2 ในวรรคเดียวกันตาม เช่น สักกะ ทุกข์ สัจจะ มัจฉา อิตถี หัตถ์ บุปผา เป็นต้น
4. พยัญชนะแถวที่ 3 สะกด พยัญชนะแถวที่ 3, 4 ในวรรคเดียวกันเป็นตัวตาม เช่น พยัคฆ์ พุทธ อัคคี อัชฌาสัย อวิชชา เป็นต้น
5. พยัญชนะแถวที่ 5 สะกด พยัญชนะทุกตัวในวรรคเดียวกันตามได้ เช่น สังข์ องค์ สงฆ์ สัญชาติ สัณฐาน สันดาป สันธาน สัมผัส สัมพันธ์ คัมภีร์ อัมพร เป็นต้น
6. พยัญชนะเศษวรรค เป็นตัวสะกดได้บางตัว เช่น อัยกา มัลลิกา วิรุฬห์ ชิวหา เป็นต้น
ตัวอย่างคำภาษาบาลี
กิตติ กิเลส กิริยา กีฬา เขต ขณะ คิมหันต์ จตุบท จิต จุฬา โจร เจดีย์ จุติ ฉิมพลี ญาติ ดิถี ดารา ดุริยะ เดชะ ทัพพี ทิฐิ นาฬิกา นิพพาน นิลุบล ปฏิทิน ปฏิบัติ ปฐพี ปกติ ปัญญา ปัจจัย บุคคล บัลลังก์ บุปผา โบกขรณี ปฐม ปัญหา พยัคฆ์ พรหม ภัตตา ภิกขุ ภริยา มัจจุราช มัจฉา มัชฌิม มหันต์ เมตตา มิจฉา มเหสี มุสา มัสสุ รัตนา โลหิต วัตถุ วิชา วิญญาณ วิตถาร วิริยะ วิสุทธิ์ วุฒิ สงกา สังข์ สงฆ์ สูญ สิริ สันติ สัญญาณ เสมหะ สัจจะ สติ โสมนัส อิทธิ อัคคี อัจฉรา อนิจจา อัชฌาสัย อายุ อาสาฬห โอวาท โอรส โอกาส อุบล
คำยืมที่มาจากภาษาสันสกฤต
ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาตระกูลวิภัตติปัจจัย มีรูปคำสละสลวย ไพเราะ นิยมใช้เป็นคำราชาศัพท์ ภาษาในวรรณคดี ชื่อบุคคล และสถานที่ เป็นต้น
ข้อสังเกตและตัวอย่างคำภาษาสันสกฤต นิยมใช้ ฑ เช่น กรีฑา จุฑา ครุฑ ไพฑูรย์ วิฑาร เป็นต้น
นิยมใช้ ร หัน เช่น กรรณ ขรรค์ ครรภ์ ธรรม พรรษา บรรพต วรรค วรรณะ มหัศจรรย์ สรรพ สวรรค์ สุวรรณ อัศจรรย์ เป็นต้น
นิยมมีอักษรควบกล้ำ เช่น กษัตริย์ เกษตร ตรุษ บุตร ปราชญ์ ปรารถนา พฤกษ์ เนตร ไมตรี ศาสตรา อาทิตย์ เป็นต้น
ใช้ ศ ษ ประสมคำเป็นส่วนมาก เช่น กษัย เกษม เกษียณ ทักษิณ ทัศนีย์ บุษกร บุรุษ เพศ ภิกษุ มนุษย์ วิเศษ ศิลปะ ศิษย์ ศึกษา ศุกร์ ศูนย์ เศียร อักษร อัธยาศัย เป็นต้น ใช้ ส นำหน้าพยัญชนะวรรค ตะ (ต ถ ท ธ น) เช่น พัสดุ พิสดาร สตรี สถาน สถิต สถิติ สถาปนา สนธยา สัตย์ สันโดษ อัสดง เป็นต้น
ประสมด้วยสระ ไอ เอา ฤ ฤ ๅ ฦ ฦ ๅ เช่น ไศล ไศวะ ไวทย์ ไวษณพ ไวยากรณ์ ไวศฺย ไอราวัณ ไอยรา เกาศัย เอารส ฤดี ฤทัย ฤทธิ์ ฤๅษี กฤษณา พฤติกรรม พฤษภาคม ทฤษฎี นฤมล มฤตยู ฦๅชา ฦๅสาย เป็นต้น
มีหลักเกณฑ์ตัวสะกด ตัวตามไม่แน่นอน กัลป์ การบูร กีรติ โกรธ จักร จันทรา ดัสกร ทรัพย์ นิตยา ประพันธ์ ประพฤติ พยายาม ลักษณะ วิทยุ มนตรี มัตสยา มัธยม ศัพท์ ศาสนา ศาสตรา อาชญา อาตมา อาจารย์ อุทยาน เป็นต้น
ตัวอย่างคำภาษาสันสกฤต
กัลบก กรรณ กรรม กษัตริย์ กัลป์ การบูร กีรติ โกรธ กรีฑา เกษม กษัย เกษียณ เกษียร เกษตร ครรชิต ครรภ์ จักร จักรวาล จันทรา จุฑา ดัสกร ทรมาน ทรัพย์ ทฤษฎี ทิศ ทหาร กษิณ ทัศนีย์ ทิพย์ นักษัตร นมัสการ นาที นฤคหิต นิตยา นิทรา นฤมล เนตร บุษบา บรรพต บุษกร บุรุษ ประเทศ ประทีป ประพันธ์ ประพฤติ ประเวณี ประมาท ประโยค ประถม ภักษา ภิกษุ มฤตยู มนุษย์ มนัส มารุต มิตร มนตรี ไมตรี มหัศจรรย์ ยักษา ลักษณะ วรรค วรรณะ วัสดุ พรรษา พยายาม พฤศจิกายน วิทยุ พิสดาร วิเศษ เพศ ศัพท์ ศาสนา ศาสตรา ศึกษา ศิลปะ ศิษย์ ศุกร์ ศูนย์ ศรี เศียร สัตย์ สันโดษ สมปฤดี สตรี สวรรค์ สรรพ สุวรรณ สถาปนา สดุดี สกล สกุล อักษร อาตมา อัศจรรย์ อัธยาศัย อารยะ อวกาศ อาจารย์ อาทิตย์ อุทยาน
ข้อแตกต่างของภาษาบาลีและสันสกฤต
ภาษาบาลี สันสกฤต เป็นภาษาตระกูลเดียวกัน และมีแหล่งกำเนิดที่ประเทศอินเดียเหมือนกัน จึงมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก แต่มีข้อแตกต่างที่เปรียบเทียบได้ดังนี้`
คำอธิบาย: 156
การนำเอาคำภาษาบาลีและสันสกฤตมาใช้ในภาษาไทย
เลือกรับคำภาษาใดภาษาหนึ่ง เช่น
เลือกรับแต่คำภาษาบาลี เช่น กังขา ขันติ จุติ เมตตา วินิจฉัย วิสัญญี เป็นต้น
เลือกรับแต่คำภาษาสันสกฤต เช่น จักรพรรดิ ตรรกะ ทรัพย์ ปรารถนา รักษา เป็นต้น
เลือกใช้รูปคำภาษาสันสกฤตแต่ใช้ความหมายของภาษาบาลี เช่น เปรต (ส.) แปลว่า ผู้ที่ตายไปแล้ว, วิญญาณของบรรพบุรุษ เปต (บ.) แปลว่า ผู้ที่ตายไปแล้ว, สัตว์ในอบายภูมิประเภทหนึ่งซึ่งรับ ผลกรรมตามที่เคยทำไว้ ไทยใช้ รูปคำตามภาษาสันสกฤต คือ เปรตในความหมายของภาษาบาลี คือ สัตว์ในอบายภูมิประเภทหนึ่งซึ่งรับผลกรรมตามที่เคยทำไว้ ปรเวณี (ส.) แปลว่า ผมเปีย, ผ้าซึ่งทอจากเปลือกไม้ย้อมสี ปเวณี (บ.) แปลว่า ผมเปีย, ผ้าซึ่งทอจากเปลือกไม้ย้อมสี, สิ่งที่สังคม ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง ไทยใช้ รูปคำตามภาษาสันสกฤต คือ ประเพณีในความหมายของภาษาบาลี คือ สิ่งที่สังคมปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง
รับมาทั้งสองภาษาในความหมายเดียวกัน เช่น บาลี สันสกฤต ไทยใช้ ความหมาย กญฺญา กนฺยกา กัญญา, กันยา หญิงสาว ถาวร สฺถาวร ถาวร, สถาพร มั่นคง, แข็งแรง ธุช ธวช ธุช, ธวัช ธง
-รับมาทั้งสองภาษาแต่ใช้ในความหมายที่ต่างกัน เช่น บาลี สันสกฤต ไทยใช้ ความหมาย เขตฺต เกฺษตฺร นา, ไร่, บริเวณ, แดน เขต บริเวณ, แดน เกษตร นา, ไร่ สามญฺญ สามานฺย ชั่วช้า, ทั่วไป สามัญ ทั่วไป สามานย์ ชั่วช้า
คำประพันธ์ สังเกตคำยืมที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต
บาลีสันสกฤต ไทยทุกทิศใช้สื่อสาร
เราใช้มาเนิ่นนาน อินเดียฐานถิ่นกำเนิด
รูปคำแปลกจากไทย ไพเราะยิ่งพริ้งแพร้วเพริศ
เพิ่มคำมีมากเกิด เลือกใช้ได้ดังฤดี
หลักเกณฑ์เขากำหนด ตั้งกฎไว้ระบุชี้
ผู้เรียนสังเกตที่ ดังบอกกล่าวต่อไปนี้
สามสิบสามนั่นหรือ คืออักษรของบาลี
สันสกฤตเขานั้นมี สามสิบห้าก็เพียงพอ
ที่มากกว่าบาลี ศ ษ นี้เข้าใจหนอ
บาลีนิยม ฬ เราเออออเอามาใช้
กีฬา นาฬิกา จุฬา ครุฬ ทมิฬ ไซร้
สันสกฤตแตกต่างไป นิยม ฑ มีหลายคำ
จุฑา ครุฑ กรีฑา ไพฑูรย์หนาควรจดจำ
ต่อไปจะขอย้ำ หลักบาลีเสียก่อนหนา
สระมีแปดตัว อัวไม่มีหลอกหนูจ๋า
อิ อี อุ อู อา อะ เอ โอ รัก ส สันต์
ร หัน ไม่นิยม ชมชื่นชอบตัวซ้อนกัน
บุคคลปัจจุบัน มีปัญญาไร้อวิชชา
มีสะกดต้องมีตาม หนึ่งสามห้าสะกดนา
หนึ่งสะกดหนึ่งสองมา ตามต่อถ้าวรรคเดียวกัน
ทุกขัง หัตถ์ มัจฉา บุปผาพา ปัจฉิมพลัน
สามสี่ตามสามนั้น อัชฌาสัย พุทธ พยัคฆา
แถวห้าต้องสะกด เขากำหนดหนึ่งถึงห้า
ตามได้ไม่กังขา สัณฐานว่าสัญจรไป
องค์สงฆ์ทุกสัญชาติ สัมพันธ์ญาติมีน้ำใจ
สันธานสัมผัสไม- ตรีอัมพรทำสัญญา
ต่อไปสันสกฤต เหล่ามวลมิตรคุ้นเคยตา
สระ สิบสี่หนา เพิ่ม ฤ ฤๅ ไอ เอา ฦ ฦๅ
นิยมคำ ร หัน อัศจรรย์ บรรพต บรรพชา
ครรชิตแก่พรรษา วรรณาธรรมละกรรมเวร
ตัว ฤ เช่นฤดี ฤทัยนี้รักหลานเหลน
นฤมลกลัวโล่เขน กฤษณาพฤกษ์ไม้เนื้อหอม
ตัวกล้ำใช้มากมี เนตรมนตรีหญิงยลยอม
ศาสตร์ศิลป์ปราโมทย์น้อม บุตรปราชญ์พร้อมรีบเร่งเรียน
ศ ษ ดูจงดี ศักดิ์ศรีศาลศาสตร์ศูนย์เศียร
อักษรศึกษาเพียร วิเศษสุดสุขเกษม
ส เสือ นำวรรค ต ต ถ ท ธ น เอม
พิสดารสถานเหม สถิตถ้ำย่ำสนธยา
จบความพอสังเขป รู้ขั้นเทพต้องศึกษา
เพิ่มเติมเสริมวิชา จากตำราอาจารย์ครู
รู้หลักจักจำแนก สังเกตแปลกแจ้งชัดหู
มุ่งมั่นตั้งใจรู้ ให้เป็นครูภาษาไทย
สมศิริ อมรวัฒนสวัสดิ์
คำยืมที่มาจากภาษาอังกฤษ
ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในตระกูลอินโด-ยุโรเปียน มีวิภัตติปัจจัย เช่นเดียวกับภาษาบาลี-สันสกฤต ภาษาอังกฤษได้รับความนิยมใช้เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารมากที่สุด มีประเทศต่าง ๆ ยอมรับภาษาอังกฤษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น